06 สิงหาคม 2563

Circular Economy สู่ Circular Living ความยั่งยืนแห่งอนาคตที่สร้างจากความร่วมมือของทุกคน (A Day)

แชร์:
Highlights
  • BS 8001: 2017 มาตรฐานสากลเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก ที่ถูกกำหนดขึ้นในประเทศอังกฤษ สู่โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand หรือ UTO ที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ 6 หัวข้อ ได้แก่ System Thinking, Innovation, Stewardship, Collaboration, Value Optimization และ Transparency จนได้รับการประเมินว่าสอดคล้องกับมาตรฐาน BS 8001: 2017 เป็นโครงการแรกของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นโครงการแรกนำร่องในอาเซียน
  • โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand หรือ UTO ของ GC เป็นโครงการแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการประเมินว่ามีการดำเนินโครงการสอดคล้องตามมาตรฐาน BS 8001:2017 ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการ UTO ได้สร้างเครือข่ายองค์กรและผู้ที่สนใจในเรื่อง Circular Economy เป็นจำนวนมาก โดยสามารถเก็บขยะพลาสติกประเภท PET จากทะเลและชายฝั่งได้กว่า 40 ตัน เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 115.27 ตัน และมีคอลเล็กชันของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการ Upcycling เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกเหล่านั้น ซึ่งสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 22 ล้านบาท

จากวิกฤต COVID-19 น่าจะเป็นเครื่องยืนยันที่ดีที่สุด ว่าผลลัพธ์ของการทำลายและไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สักวันหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะเหวี่ยงมาถึงตัวคุณในที่สุด คำถามสำคัญในวันนี้ที่ควรถามตัวเองคือ เราจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร

หลายคนอาจเคยเห็นกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมมามากมาย แต่ปัญหาสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นคือ กิจกรรมรณรงค์เหล่านั้น ไม่สามารถคงความยั่งยืนและต่อเนื่องได้

แต่คำตอบและแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและสร้างความยั่งยืนได้ดีที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้น แนวคิดเรื่อง 'Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน' จากหลักการที่นำมาปรับใช้ในการดำเนินงานจริง ถ่ายทอดเป็นแนวคิด 'GC Circular Living การใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ' ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง รวมทั้งยังสร้างความเป็นไปได้และผลตอบแทนทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดความยั่งยืนและสามารถเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้เราจึงอยากชวนคุณมาอ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC ผู้ขับเคลื่อนความยั่งยืน ผ่านหลักการ 'Circular Economy สู่แนวคิด GC Circular Living' ที่ล่าสุดโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ซึ่งทำต่อเนื่องมายาวนานกว่า 3 ปี มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เช่น สามารถเก็บขยะพลาสติกประเภท PET จากทะเลและชายฝั่งได้ปริมาณมากถึง 40 ตัน เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 115.27 ตัน และมีคอลเล็กชันของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการ Upcycling เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกเหล่านั้น ซึ่งสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 22 ล้านบาท

ล่าสุดโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ยังเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการยืนยันว่ามีหลักการดำเนินโครงการตาม 'มาตรฐาน BS 8001:2017' หรือ 'มาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก' ซึ่งตอกย้ำความเชื่อของ GC ว่า 'การใช้ทรัพยาการอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด' คือความยั่งยืนแห่งอนาคตที่ต้องสร้างจากความร่วมมือของทุกคน

"หัวใจของการ Upcycle คือการนำคนที่มีหลายๆ แนวคิด คนที่ทำธุรกิจหลายๆ แบบมาสร้างสิ่งใหม่ร่วมกัน"

ทำไม GC ถึงลุกออกมาผลักดันประเด็นเรื่อง Circular Economy ทำด้วยความเชื่ออะไร

GC เรามีความเชื่อเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งกลไกหนึ่งที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ก็คือ 'Circular Economy หรือ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน' จากหลักการดังกล่าว GC นำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ถ่ายทอดเป็นแนวคิด 'GC Circular Living หรือ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ' เพราะความยั่งยืนนั้นประกอบไปด้วยการสร้างสมดุลและการเติบโตร่วมกัน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง GC Circular Living ได้นำองค์ประกอบทั้ง 3 มาปรับใช้ในการดำเนินงาน โดยครอบคลุม 3 เรื่องคือ เรื่องแรก Smart Operating คำนี้ไม่ได้แปลว่าการสร้างระบบโรงงานให้ดีอย่างเดียว แต่หมายถึงการทำธุรกิจหรือทำงานอย่างสมาร์ตต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เกิดของเสียในกระบวนการทำงานน้อยที่สุด นำเทคโนโลยีแบบใหม่มาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย GC มีเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อย Greenhouse Gas (GHG) จากกระบวนการผลิตลง 20% ภายในปี 2030 ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายการลด GHG ของประเทศไทยตามพันธสัญญา Paris Agreement รวมถึงตั้งเป้าลดการปล่อย GHG ต่อหน่วยการผลิตลง 52% ภายในปี 2050 เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก (SDG 13 – Climate Action)

เรื่องที่สองคือ Responsible Caring การออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเสมอ คือมีวิธีการจัดการ การคิดค้น พัฒนา และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถนำกลับมา Recycle และ Upcycle ให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่นำมาหมุนเวียนและใช้ประโยชน์ได้ยาวนานมากขึ้น รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไบโอพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติด้วยการฝังกลบ

เรื่องสุดท้าย เรียกว่า Loop Connecting อันนี้สำคัญที่สุดเลย คือการสร้างแนวร่วม โดยนำคนที่มีแนวคิดและต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนเข้ามาร่วมกันทำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางความคิดต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มาร่วมกันทำโครงการ สร้างคนที่มีความเชื่อคล้ายๆ กัน และขยายผลออกไป ซึ่งผลสุดท้ายก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในที่สุด

ที่ผ่านมาคนมักคิดว่าเวลาเราทำโครงการดีๆ เพื่อสังคม จะสร้างภาระเพิ่มให้กับธุรกิจ แต่ Circular Economy เปลี่ยนความเชื่อนั้นไปอย่างไร

ความเป็นจริงแล้ว การทำ Circular Economy ไม่ได้เพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจของเรา ในทางกลับกัน การทำสิ่งนี้ช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจของเราด้วยซ้ำ ถ้าย้อนไปดูการทำโครงการ CSR ในสมัยก่อน จะเป็นการไปมอบสิ่งของหรือเงินเพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ปลายทาง แต่ว่าถ้าเป็นการทำ Circular Economy เราจะรู้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางและแก้ได้อย่างตรงจุด ยกตัวอย่างปัญหาพลาสติก คนมักจะแก้ที่ปลายทาง บอกว่าปัญหาเกิดจากการทิ้งขยะลงแม่น้ำ เกิดเป็นปัญหาต่อสัตว์ทะเล แต่ถ้าเราเอาแนวคิด Circular Economy เข้าไปครอบ เราจะเริ่มมองและแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ทิ้งแล้วก็ต้องเก็บ เก็บแล้วก็ต้องนำไปคัดแยกให้ถูกต้อง นำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต่างกัน บางอันนำกลับไปใช้ใหม่ได้ บางอันนำไปสร้างสิ่งที่มีประโยชน์และสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้ เป็นการนำเอาขยะมา Recycle และ Upcycle ให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้ใหม่

การ Upcycle แตกต่างจากการ Recycle อย่างไร

เมื่อก่อนเรามองว่าของที่ได้จากการ Recycle นั้นไม่น่าใช้ เหมือนกระดาษที่ Recycle แล้วก็จะสีตุ่นๆ แต่การ Upcycle คือการออกแบบนอกเหนือไปจากการใช้เทคโนโลยีอย่างเดียว เพื่อให้ขยะกลับมาใช้ได้ มีการใส่ดีไซน์ มีการใส่นวัตกรรม ใส่แนวคิดต่างๆ เข้าไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสิ่งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือ เพราะการ Recycle คือการเอาขยะไปแปรรูปในโรงงานผลิต ไม่ต้องมี Loop Connecting สักเท่าไหร่ แต่การ Upcycle ต่างออกไป

ยกตัวอย่างการนำขวดพลาสติกมาจากทะเลและชายฝั่ง ถ้าเราคิดแบบเดิมก็แค่เอาไป Recycle ในโรงงาน แต่ถ้าเราเปลี่ยนแนวคิด ดึงพาร์ตเนอร์ที่อาจจะทำเรื่องการแปรรูปขวดพลาสติกเป็นเส้นใย เอาไปทอผสมกับเส้นไหม และผสมกับเส้นใยคอตตอน แล้วก็ไปเพิ่มมูลค่าต่อด้วยการทำงานร่วมกับคนที่ทำเสื้อผ้า ผลลัพธ์คือผลิตภัณฑ์ที่เรา Upcycle จากขยะก็สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ได้มากขึ้น หัวใจของการ Upcycle คือการนำคนที่มีหลายๆ แนวคิด คนที่ทำธุรกิจหลายๆ แบบมาสร้างสิ่งใหม่ร่วมกัน

"Circular Economy ไม่ได้หมายความว่าเราทำคนเดียวเก่งแล้วจบ แต่ความสำเร็จอยู่ที่ว่าเราจะทำยังไงให้คนที่มีส่วนร่วมมีความเข้าใจ มีความเชื่อว่าจะต้องลงมือทำ แล้วจากจุดเล็กๆ ตรงนี้จะค่อยๆ ขยายใหญ่ออกไปเอง"

แล้วคุณคิดว่า Circular Economy จะเปลี่ยนทิศทางของคนทำธุรกิจในอนาคตไปมากแค่ไหน

เมื่อก่อนตอนที่เราเริ่มทำอาจจะดูยากหน่อย เพราะว่าความเชื่อของคนอาจจะไม่มากเท่านี้ แต่ความตระหนักในวันนี้มีมากกว่าเดิมเยอะ ผมคิดว่าสิ่งที่มาช่วยกระตุ้นอย่างมากในวันนี้คือเรื่องวิกฤต COVID-19 ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงของโลก ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นว่าสิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้นเยอะ เพราะคนเดินทางน้อยลง สิ่งแวดล้อมในทะเลหรือธรรมชาติต่างๆ ดีขึ้น และผมคิดว่าจุดนี้จะทำให้คนเห็นถึงความจำเป็นในเรื่อง Circular Economy มากขึ้นตามไปด้วย

แต่สิ่งสำคัญในการผลักดันเรื่อง Circular Economy ไม่ได้หมายความว่าเราทำคนเดียวเก่งแล้วจบ แต่ความสำเร็จอยู่ที่ว่าเราจะทำยังไงให้คนที่มีส่วนร่วมมีความเข้าใจ มีความเชื่อว่าจะต้องลงมือทำ แล้วจากจุดเล็กๆ ตรงนี้จะค่อยๆ ขยายใหญ่ออกไปเอง

เราจะเปลี่ยนให้คนเชื่อเรื่องนี้ได้อย่างไร ถ้าสมมติเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ก็คงคิดว่าการทำ Circular Economy นั้นเป็นไปไม่ได้แน่ๆ

การทำเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจใหญ่ จริงๆ แล้ว Circular Economy บางครั้งอาจช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ให้ธุรกิจของคุณด้วยซ้ำ เพราะว่าปัจจุบันคนต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ปัญหาคือองค์กรขนาดเล็กหรือ SME ต่างๆ อาจจะไม่มีองค์ความรู้เหมือนองค์กรใหญ่ๆ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรใหญ่ รวมทั้งคนที่เคยทำเรื่องนี้มาก่อนและประสบความสำเร็จ ที่จะต้องนำพาองค์กรเหล่านั้น โดยการให้ความรู้ และเดินทางไปด้วยกัน การทำเรื่องนี้คือ Journey ที่ต้องเดินไปพร้อมๆ กัน แล้วพอทำไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง SME หรือองค์กรเล็กๆ เหล่านั้นเขาจะรู้เองว่า การทำ Circular Economy สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ แม้กระทั่งสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรได้อย่างไร

จริงๆ แล้วเราอาจจะไม่ต้องทำเองทุกส่วน

ใช่ครับ อย่างช่วงแรกที่เราทำโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เราก็ไปหาแนวร่วมมาช่วยเก็บขยะในทะเล หาพาร์ตเนอร์มาช่วยต่อยอด อย่างการเปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นเส้นใยเราก็ไม่ได้ทำเองนะ แต่ไปจับมือกับพาร์ตเนอร์ หรือเรื่องการออกแบบเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ก็มีพาร์ตเนอร์อีกกลุ่มที่เข้ามาช่วย เพราะฉะนั้น ทุกคนที่มาทำก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของห่วงโซ่เหมือนกัน

ส่วนไหนของห่วงโซ่ที่สร้างยากที่สุด

อาจจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ สร้างความเชื่อ และความต่อเนื่อง (Persistence) เพราะการทำโครงการแบบนี้ สมมติว่าทำไปครั้งหนึ่งแล้วประสบผลสำเร็จ แต่ว่าไม่ได้ทำต่อ สุดท้ายโครงการดีๆ ก็หายไป การทำสิ่งนี้ต้องเกิดจากความเชื่อที่แท้จริง และต้องทำต่อเนื่อง ต้องเข้าใจก่อนว่าความยากมีอยู่ทุกขั้นตอนอยู่แล้ว

ไม่ได้สวยงามทั้งหมดอย่างที่หลายคนคิดสินะครับ

ยากครับ แต่ไม่ได้ยากเกินที่เราจะทำ เพราะมีเรื่องอีกร้อยแปดอย่างที่ยากกว่า แล้วอาจจะไม่ยากถ้าเราใช้เวลาทำความเข้าใจกับมัน และถ้าเรามีความเชื่อว่าสามารถใช้ชีวิตโดยเอาความคิดเรื่อง Circular Living มาใช้ เปรียบเทียบเหมือนการแปรงฟันที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา เราก็สามารถทำได้ทุกวัน เพราะสุดท้ายถ้าไม่ทำ โลกที่เราอยู่ สิ่งแวดล้อมที่เรามี รวมไปถึงสังคม ทุกอย่างจะแย่ตามไปหมด แต่ถ้าเราคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันก็จะไม่ยาก สมมติถ้าเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้มีส่วนในการผลิต ก็สามารถมีส่วนร่วมได้เช่นกัน เช่น ตอนจะทิ้งขยะก็คิดหน่อยว่าทิ้งอย่างไรให้ถูกต้อง หรือจะใช้ผลิตภัณฑ์อะไรก็เลือกหน่อยว่าเป็นของที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม หรือนำกลับไปรีไซเคิลได้หรือเปล่า ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมได้หมด

พูดถึงจุดเริ่มต้นของ Upcycling the Oceans, Thailand กันบ้าง โครงการนี้เริ่มได้อย่างไร

บริษัท GC ของเราตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นเหมือนบ้าน เป็นฐานการผลิตของเรา และจริงๆ ทะเลที่ระยองสวยมาก แต่ช่วงหนึ่งเราเห็นว่าทะเลมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงมาเป็นจำนวนมาก ทั้งตามชายหาดและในทะเล เราก็เลยไปร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คิดว่าทำอย่างไรให้ทะเลสวยขึ้น สะอาดขึ้น สร้างให้นักท่องเที่ยวและชาวบ้านตระหนักเรื่องนี้ เพราะของแบบนี้เรามาเก็บครั้งเดียวแล้วเลิกไม่ได้ แต่ทุกคนต้องช่วยกันทำ ทีนี้พอเก็บขยะจากทะเลขึ้นมาเสร็จเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาขยะที่ได้ไปทำอะไร เราก็ไปจับมือกับมูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากประเทศสเปน ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เราพุ่งเป้าจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย ซึ่งสถานที่แรกที่เริ่มดำเนินโครงการคือเกาะเสม็ด โดยการจัดเก็บขยะในทะเลและชายฝั่ง และแปรรูปขยะพลาสติกประเภท PET ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าในรูปแบบที่สร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ นำไปสู่การลดขยะในทะเลและอนุรักษ์ท้องทะเลไทย

จากวันแรกที่ทำและก็ขยายผลไปเป็นอีกหลายๆ โปรเจ็กต์ในวันนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ตอกย้ำความเชื่อของคุณในเรื่องอะไร

สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มทำจากจุดเล็กๆ อย่างทะเลก็เริ่มจากจังหวัดระยองซึ่งเป็นที่ที่โรงงานของเราตั้งอยู่ก่อน แล้วค่อยๆ ขยายออกไปเป็นโครงการอื่นๆ อีกเยอะแยะ มันพิสูจน์ว่าถ้าทุกคนร่วมกันทำ แล้วเรามีแนวร่วมต่างๆ ในแต่ละส่วน ผลรวมออกมาก็สามารถได้สิ่งดีๆ เราเริ่มจากเล็กๆ ก่อน อย่าไปเริ่มใหญ่แล้วสุดท้ายทำไม่ได้

เราไม่ได้คิดว่าวันนี้สิ่งที่ทำประสบความสำเร็จอะไรมากมาย แต่คือการเดินทางที่เรามาไกลจากจุดเริ่มต้นเยอะแล้ว สิ่งสำคัญคือตอนนี้เราเป็นเหมือนประภาคาร ที่ถ้าคนสนใจเรื่อง Circular Living หรือ Circular Economy คนจะนึกถึงเรา มันเห็นถึงความสำเร็จว่าเราสามารถดึงคนที่มีความเชื่อและอยากลงมือทำมารวมกันได้

"เราไม่ได้คิดว่าวันนี้สิ่งที่ทำประสบความสำเร็จอะไรมากมาย แต่คือการเดินทางที่เรามาไกลจากจุดเริ่มต้นเยอะแล้ว สิ่งสำคัญคือตอนนี้เราเป็นเหมือนประภาคาร ที่ถ้าคนสนใจเรื่อง Circular Living หรือ Circular Economy คนจะนึกถึงเรา"

อยากชวนคุยถึงเรื่องมาตรฐาน BS 8001:2007 หรือมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เพิ่งได้รับมา ว่ามีเกณฑ์ในเรื่องใดบ้าง

ล่าสุดโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ที่เราทำมา 3 ปี ได้ผ่านการประเมินตามมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (BS 8001:2017) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล และโครงการของเราเป็นโครงการแรกในประเทศไทย อีกทั้งเป็นโครงการแรกนำร่องในอาเซียน ตอนที่ทำโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เราไม่เคยรู้จักมาตรฐาน BS 8001:2017 มาก่อน เพียงแต่เราทำด้วยความเชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่ดี เสร็จแล้วพอมารู้จักมาตรฐานนี้ในตอนหลัง ทีมงานของเราก็ไปศึกษาดูว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง โดยมีเกณฑ์การประเมินอยู่ 6 หัวข้อได้แก่ System Thinking, Innovation, Stewardship, Collaboration, Value Optimization และ Transparency และส่วนสุดท้ายที่เพิ่มเติมแต่สำคัญไม่แพ้กันคือการได้รับการตรวจสอบและประเมินจากบุคคลที่ 3 (Third Party Verifier) และปรากฏว่าสิ่งที่เราทำมาเข้าเงื่อนไขทั้งหมด

แต่ถึงแม้เกณฑ์การรับรองนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นผลได้ชัดเจน แต่นี่ไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จสำหรับผม ความสำเร็จของผมคือเมื่อไหร่มีคนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น และเดินเข้ามาหาเรา แล้วเราช่วยให้เขาสามารถไปสร้างแนวคิดแบบนี้ขยายส่งต่อออกไปได้ สร้างแนวปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไป

ถ้าไม่ได้ตั้งธงว่ามาตรฐานหรือรางวัลคือสิ่งสำคัญอันดับแรก แล้วความสำเร็จของคุณคืออะไร

ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำมาถูกทางแล้วล่ะ เราทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ แต่ผมไม่อยากให้คิดว่าอยากเอารางวัลเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเริ่มจากวิธีคิดข้างใน ว่าสิ่งที่ทำนั้นมีประโยชน์จริงๆ สามารถช่วยโลกได้ยังไง ช่วยตัวเองได้ยังไง แล้วสุดท้ายผมคิดว่าพอเราทำไปเรื่อยๆ มาตรฐานต่างๆ พวกนี้จะได้มาเอง

ผมคิดว่าไม่ว่าทำอะไรสุดท้ายโลกของเราต้องดีขึ้น ถ้าเราทำคนเดียว ทำให้ตายโลกก็ดีขึ้นประมาณหนึ่งเท่านั้น แต่ว่าถ้าเราขยายความเชื่อออกจากสิบไปร้อย จากร้อยไปหมื่น และมีคนที่คิดคล้ายๆ เรา มีการขยายผลออกไปเรื่อยๆ ถึงจะเรียกว่าความสำเร็จ การที่เราจะลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าจะทำได้ต้องมีคนที่คิดเหมือนกันในปริมาณที่มากพอ ทำแล้วไม่ได้สำเร็จคนเดียวเพราะเรื่อง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ทุกๆ คนต้องร่วมมือกัน

เนื้อหาดังกล่าว เผยแพร่ในเว็บไซต์ a day BULLETIN เรื่อง "คงกระพัน อินทรแจ้ง: Circular Economy สู่ Circular Living ความยั่งยืนแห่งอนาคตที่สร้างจากความร่วมมือของทุกคน" https://adaybulletin.com/talk-brandedcontent-kongkrapan-intarajang-circular-economy-n-living/52134?fbclid=IwAR2j5jzTtOLr8-3KfNJ4bYj1pU-HvMIKMfUSU1EoMQiWg95y1G5XIja7EHM

Feature Stories

Feature Stories
29 พฤศจิกายน 2564
น้ำมันหอมระเหยปรับอากาศธรรมชาติ “LUFFALA” ดีต่อใจ รักษ์สิ่งแวดล้อม
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
22 ตุลาคม 2563
โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล นวัตกรรมพลังงานทางเลือกยั่งยืน ที่เป็นมิตรต่อทุกสิ่งแวดล้อม [The Momentum]
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
14 พฤษภาคม 2561
Upcycling Plastic Waste Project by PTTGC เปลี่ยนพลาสติกให้เป็นมากกว่าพลาสติก
อ่านเพิ่มเติม