Feature Stories
Care the Bear ทำไมใครๆ ต้องแคร์หมี ?
หากใครไปร่วมงาน GC Circular Living Symposium 2019 เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คงได้เห็นวิดีโอชื่อ “U Care the Bear – V Care the World” ที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดทำขึ้น โลดแล่นบนจอขนาดยักษ์ก่อนงานเริ่ม พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า การจัดอีเวนท์ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับหมีอย่างไรกันนะ เรามีคำตอบให้คุณครับ
Care the Bear หรือชื่อเต็มๆ ว่า “Care the Bear : Change the Climate Change by Eco Event” เป็นโครงการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อส่งเสริมบริษัทจดทะเบียน ลดสภาวะ โลกร้อนด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรมหรืออีเว้นท์ เพราะก๊าซเรือนกระจกนี้เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะการทำให้ธารน้ำแข็งซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของหมีขั้วโลกละลาย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า Care the Bear และข้อปฏิบัติง่ายๆ 6 ประการ คือ
- เริ่มจากการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ผู้ร่วมงานเดินทางโดยรถสาธารณะ หรือทางเดียวกันมาด้วยกันแบบ Carpool เพื่อลดพลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทาง
- ส่งเสริมการลดการใช้กระดาษและพลาสติกในงานด้วยวิธีต่างๆ อาทิ การสแกน QR Code เพื่อรับข้อมูลแทนการแจกเอกสารในงาน เป็นต้น
- งดใช้โฟม ( โพลิสไตรีน หรือ PS ) ทั้งสำหรับตกแต่งสถานที่หรือเป็นภาชนะใส่อาหารในงาน
- ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น การใช้หลอด LED ฯลฯ โดยกำหนดเป็นข้อตกลงการจัดซื้อ จัดจ้างระหว่าง ผู้จัดงาน (ออร์แกไนเซอร์) และผู้ว่าจ้าง รวมถึงการช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบอื่นๆ เท่าที่ทำได้ เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น
- วางแผนการออกแบบ การใช้อุปกรณ์ตกแต่ง เน้นการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมา Reuse / Recycle ได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในงาน จะไม่กลายเป็นขยะ หรือเหลือเป็นขยะน้อยที่สุด
- เชิญชวนให้ทุกคน ตักอาหารแต่พอดี เพราะการรับประทานเหลือ นอกจากจะสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดขยะแบบไม่จำเป็นอีกด้วย
อ๊ะๆ แต่ข้อมูลทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมา ต้องได้รับการกรอกลงใน Eco-Event Kit ที่ SET ออกแบบไว้ ตัวไฟล์ ก็จะสรุปปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากงาน Event ดังกล่าวออกมาให้ทันที ผลที่ออกมาจะบอกได้ว่าคุณลดคาร์บอนฟุตพริ้นและช่วยเจ้าหมีขั้วโลกให้มีอยู่ดีมีสุขต่อไปได้มากน้อยเพียงใด
GC เริ่มแล้ว และคุณเริ่มรึยังครับ หากไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ติดต่อสายงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยฝ่ายพัฒนาเพื่อสังคมของ SET โทร 02 009 9999 หรือ 02 009 9489 / 02 009 9480 ได้เลย
สรุปการลดปริมาณ Carbon Footprint จากการจัดงาน Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet
Feature Stories