15 มิถุนายน 2561

Pure Gold - Upcycled! Upgraded! เปลี่ยนขยะเป็นทอง

แชร์:

นิทรรศการ ‘Pure Gold - Upcycled! Upgraded! เปลี่ยนขยะเป็นทอง’ เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) และ สถาบัน ifa (Institut für Auslandsbeziehungen) ที่หยิบเอาประเด็นเรื่องปัญหาขยะมาผสมผสานกับเรื่องการออกแบบ ผ่านการสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุ (upcycling) จนเกิดเป็นชิ้นงานจัดแสดงที่เปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าขึ้นมา โดยนิทรรศการนี้เป็นนิทรรศหมุนเวียนที่จัดขึ้นทั่วโลก เริ่มต้นครั้งแรกที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และบ้านเราเป็นประเทศที่ 2 ก่อนจะหมุนเวียนต่อเนื่องทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า

แนวคิดหลักของนิทรรศการคือการนำเสนอมุมมองของนักออกแบบจากทั่วโลกที่มีต่อ ‘ขยะ’ ที่แตกต่างกันออกไป แต่มีจุดร่วมอย่างเดียวกันคือการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะด้วยการเพิ่มดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์เข้าไป จนออกมาเป็นชิ้นงานต่างๆ ที่ผลิตขึ้นจากขยะ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของเล่น เครื่องใช้ ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชันและดีไซน์ตามแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นทอง เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ตระหนักถึงปัญหาขยะล้นโลกด้วยการร่วมกันลดปริมาณขยะด้วยการหันนำขยะมาสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง

ความน่าสนใจของนิทรรศการนี้ คือการคัดสรรผลงานจำนวนกว่า 76 ชิ้น จากนักออกแบบ 53 คนที่มาจากทั้งยุโรป แอฟริกา เอเชีย และนักออกแบบชาวไทย โดย curator 7 คนจากทั่วโลก ซึ่งสะท้อนถึงบริบทของการเลือกวัสดุต่างๆ มาใช้ที่แตกต่างกัน วิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงการออกแบบที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และฝีมือในงานออกแบบของแต่ละประเทศ ซึ่งเราได้เลือกผลงานที่โดดเด่นจากในนิทรรศการมาแนะนำให้ได้ชมกัน

นิทรรศการ ‘Pure Gold - Upcycled! Upgraded! เปลี่ยนขยะเป็นทอง’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม - 22 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องแกลเลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ

“ผลงานที่เห็นเหล่านี้เป็นผลงานการสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่การรีไซเคิลในแบบที่เรารู้จักกัน คือในอดีตเราจะรีไซเคิลเพื่อคำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาหรือมีเหตุผลในเรื่องของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แต่ยังขาดในเรื่องของความงาม ซึ่งผลงานเหล่านี้จะเป็นส่วนที่ชดเชยตรงนั้นได้ เพราะศิลปินจะมองเห็นความงามในวัสดุต่างๆ ที่คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นขยะแล้ว”

Volker Albus ภัณฑารักษ์นิทรรศการ ‘Pure Gold - Upcycled! Upgraded! เปลี่ยนขยะเป็นทอง’

Forrest Gump
Waltraud Münzhuber
เยอรมัน

ครั้งหนึ่งวงการหนังและดนตรีเคยมีสื่อที่เป็น hard copy อย่างม้วนวิดีโอ VHS และเทปคาสเซ็ท ก่อนจะถูก disrupt ด้วยแผ่นซีดีและดีวีดี และถูก disrupt อีกครั้งด้วยด้วยไฟล์ดิจิทัล ปัจจุบันทุกอย่างถูกยกเข้าไปอยู่ในระบบ streaming บนอินเทอร์เน็ต จนแทบไม่เหลือสื่ออะไรให้จับต้องได้อีกต่อไป ความทรงจำของเพลงและหนังเรื่องโปรดเหลือเป็นเพียงม้วนเทปเก่าๆ ที่ทุกวันนี้แทบจะหาเครื่องเล่นไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ดีไซเนอร์อย่าง Waltraud Münzhuber จึงได้นำเส้นแถบแม่เหล็กความยาวนับร้อยเมตรที่ใช้บันทึกภาพและเสียงของม้วนวิดีโอ VHS มาสานให้เป็นกระสอบขนาดเล็กสำหรับใส่ของ ด้วยคุณสมบัติของแถบแม่เหล็กที่อาจจะบอบบาง แต่เมื่อมานำมาสานเข้าด้วยกันก็ช่วยเพิ่มความคงทนได้ อีกทั้งยังมีสีเงินสะท้อนแสงก็ทำให้กระสอบนั้นดูหรูหราขึ้นมา ความน่าสนใจคือดีไซเนอร์เลือกหยิบม้วนวิดีโอหนังเรื่องโปรดอย่างเรื่อง Forrest Gump มาใช้ ซึ่งสามารถหาดูได้ในอินเทอร์เน็ต การเก็บม้วนวิดีโอไว้คงไม่เกิดประโยชน์อะไร นับเป็นการแปลงความทรงจำเก่าๆ ให้ออกมาในรูปแบบใหม่ได้อย่างไม่สูญเปล่า

www/www: we want wind / we want water
Volker Albus
เยอรมัน

เป็นที่รู้กันว่า ไม้ก๊อก ทำมาจากเปลือกไม้ชั้นนอกของต้นโอ๊กที่สามารถสร้างเปลือกใหม่ขึ้นมาแทนได้ เป็นการนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้โดยที่ไม่ต้องทำลายป่า คุณสมบัติของเศษไม้ก๊อกคือเบา ทนไฟ ยืดหยุ่นได้ และสามารถนำมาอัดขึ้นรูปใหม่เป็นทรงอะไรก็ได้ตามต้องการ นิยมนำมาทำเป็นจุกขวดไวน์ที่ช่วยรักษาคุณภาพของไวน์ได้นับร้อยปี

ด้วยคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมของไม้ก๊อก ทำให้ Volker Albus ดีไซเนอร์และ curator ของงานนี้จึงนำเศษไม้ก๊อกมาขึ้นรูปใหม่ด้วยบล็อกเรซินให้ออกเป็นมารูปทรงกลมอย่าง ลูกฟุตบอล ลูกบาสเก็ตบอล ลูกรักบี้ และลูกวอลเลย์บอล ที่สามารถนำมาเล่นได้ไม่ต่างจากลูกบอลจริงๆ

Steel Bar Combination Stool
Cheng Biliang
จีน

มีคนเคยบอกไว้ว่าเศษเหล็กไม่ใช่ขยะที่แท้จริง เพราะมันสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทุกรูปแบบ ด้วยคุณสมบัติอันแข็งแกร่งทนทาน จะนำมาหลอมเพื่อแปรรูป หรือจะนำมาตัดเชื่อมเพื่อทำมาใช้ทันทีก็ยังได้ เราจึงได้เห็นโรงงานที่รับซื้อเศษเหล็กเพื่อนำกลับไปรีไซเคิลมากมาย

แม้เศษเหล็กจะมีค่าอย่างไร แต่ก็ยังมีเศษเหล็กราคาถูกอย่างเหล็กเส้นสำหรับขึ้นโครงปูนที่มักถูกทิ้งอยู่ตามสถานที่ก่อสร้างจำนวนมาก ดีไซเนอร์ชาวจีนจึงเลือกหยิบเหล็กเส้นเหล่านั้นมาดีไซน์ใหม่ ด้วยการนำมาตัดและเชื่อมให้เป็นเก้าอี้สตูทรงเลขาคณิต โดยคงเอกลักษณ์ผิวสัมผัสของเหล็กเส้นที่เป็นเกลียว แล้วนำมาทาด้วยสีสันสดใส เมื่อนำมาแมตช์กัน 4 ตัวครบชุดจึงกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สวยงามลงตัวทีเดียว

Knit-Knacks
Junk Munkez
เลบานอน

เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง จึงทำให้ทุกวันเครื่องใช้ไฟฟ้าจึงตกรุ่นไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ยอดขายของเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นๆ กลับทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ส่วนมากมักจะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สามารถย่อยสลายได้เอง ทำให้ประเทศแถบยุโรปต้องออกกฎหมายให้บริษัทผู้ผลิตต้องจัดการกับอิเล็กทรอนิกส์เสียก่อน จึงจะสามารถวางจำหน่ายสินค้าชิ้นใหม่ได้

ในส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชิ้นก็อาจไม่ได้เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์เสมอไป เพราะอย่างถังปั่นสแตนเลสที่อยู่ในเครื่องซักผ้าคือวัสดุชั้นดีที่สามารถนำมาดีไซน์ใหม่ได้ อย่างผลงานชิ้นนี้ของศิลปินจากเลบานอนที่นำถังปั่นมาทาสีใหม่ ตกแต่งด้วยเบาะและไหมพรมสไตล์อาหรับ จนกลายเป็นเก้าอี้สตูเก๋ๆ ที่บ่งบอกถึงความเป็นพื้นถิ่นของผู้คนแถบตะวันออกกลางได้เป็นอย่างดี

Horse Hair Collection
จารุพัชร อาชวะสมิต
ไทย

ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ เรื่องของคุณภาพวัสดุทุกชิ้นที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่มาเป็นอันดับหนึ่ง จึงทำให้วัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผลิตได้ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ต้องถูกทิ้งกลายเป็นขยะปริมาณมหาศาล

แม้ขยะเหล่านั้นจะไม่ผ่านมาตรฐานยานยนต์ แต่กลับเป็นวัสดุชั้นดีในการนำมาดีไซน์เป็นของใช้อื่นๆ ได้ อย่างเช่นเข็มขัดนิรภัยที่มีคุณสมบัติของเส้นใยที่แข็งแรงคงทน จารุพัชร อาชวะสมิต ดีไซเนอร์ไทยที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอมองเห็นคุณสมบัติดังกล่าว จึงนำเข็มขัดนิรภัยมาทอรวมใหม่ให้เป็นผืนขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการตกแต่งบ้าน ซึ่งให้ความคงทนในระดับเดียวกับผ้าที่ทอจากขนหางม้าเลยทีเดียว

เก้าอี้ พลาสติก Recycle จากผนังโครงสร้างพาวิลเลียน
PTTGC
ไทย

แม้ว่า พลาสติก จะเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากถูกเลือกมาใช้ทดแทนวัสดุประเภทอื่นๆ ในปัจจุบันมากขึ้น แต่ถ้าหากมีการจัดการอย่างถูกวิธีแล้ว พลาสติกคือวัสดุที่มหัศจรรย์มากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะมีราคาถูกกว่าแล้ว อีกหนึ่งคุณสมบัติของพลาสติกคือสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้อีกหลายต่อหลายครั้ง

อย่างเช่นโครงสร้างผนังสีชมพูสดใสของ Waste Side Story Pavilion หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจของ Bangkok Design Week 2018 ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล และหลังจากจัดแสดงเสร็จสิ้น ชิ้นส่วนพลาสติกเหล่านั้นก็ถูกนำมาดีไซน์ใหม่อีกครั้ง โดยมาประกอบเข้ากับโครงสร้างของไม้สังเคราะห์ที่ทำมาพลาสติกรีไซเคิลเช่นกัน จนกลายเป็นเก้าอี้นั่งที่มีความแข็งแรงคงทน พร้อมวางเรียงรายให้ผู้เยี่ยมชมนิทรรศการ Pure Gold ได้นั่งพักผ่อนหากเมื่อยล้า นับเป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่าของวัสดุอย่างไม่รู้จบจริงๆ

#Upcycling #UpcyclingPlasticWaste #GCUpcycling #ChemistryForBetterLiving

Feature Stories

Feature Stories
04 กรกฎาคม 2565
มุ่งสู่อนาคต กับนวัตกรรมความยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
05 สิงหาคม 2564
แก้วที่ทำจาก Bioplastics ดีกว่าเดิมอย่างไร
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
14 พฤษภาคม 2561
Upcycling Plastic Waste Project by PTTGC เปลี่ยนพลาสติกให้เป็นมากกว่าพลาสติก
อ่านเพิ่มเติม