04 กันยายน 2560

กว่าจะเป็นพลาสติกที่ใช่ของ “โครงการหลวง”

แชร์:

“สลัดผักโครงการหลวง” นับเป็นอาหารที่ผู้รักการดูแลสุขภาพต่างชื่นชอบ เพราะเพียบพร้อมด้วยผักนานาชนิดที่มีความสด ความอร่อย และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย  และยังเป็นการสานต่อโครงการตามแนวพระราชดำริอีกด้วย ซึ่ง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ก็ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับใช้ในมูลนิธิโครงการหลวง โดยได้เข้าไปสนับสนุนตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกต้นกล้าไปจนถึงการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์เพื่อนำมาจำหน่าย ตอกย้ำเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต

ดร. อัญชัญ ชมพูพวง ผู้ประสานงานพัฒนาและส่งเสริมผักมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า โครงการหลวงใช้พลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์มากกว่า 20 ตันต่อปี ขณะที่เป็นพลาสติกอื่นๆ เช่น พลาสติกคลุมหลังคาโรงเรือน ถุงเพาะต้นกล้าพืชผลและไม้ดอก รวมแล้ว มากกว่า 80-100 ตันต่อปี  โครงการหลวงจึงมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่ปลอดภัย ได้คุณภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม  โครงการความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง ภายใต้การดำเนินงานร่วมกันระหว่าง มูลนิธิโครงการหลวง สกวและ PTTGC ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ PLA จึงถือว่ามาถูกทาง และเป็นการบูรณาการการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อมโดยตรง นอกจากนี้ โครงการหลวงยังมุ่งสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรสมาชิกให้เข้าใจเรื่องการใช้ และประโยชน์ของพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ซึ่งโครงการได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกในระยะเริ่มแรกจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ พลาสติกคลุมโรงเรือน ถุงบรรจุผักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถุงยืดอายุผลิตผลทางการเกษตร ถุงปลูกถุงเพาะพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ และถาดสลัดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้

สำหรับพลาสติกคลุมโรงเรือน ถุงบรรจุผักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และถุงยืดอายุผลิตผลทางการเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ PTTGC ที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) บ่งบอกถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฎจักรของผลิตภัณฑ์ โดยพลาสติกคลุมโรงเรือนที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้น มีความแข็งแรง ทนทาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและคุณภาพของผลิตผลภายในโรงเรือน ขณะที่ถุงบรรจุผักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังคงคุณสมบัติความเหนียวและความแข็งแรงได้เทียบเท่าถุงบรรจุผักสดทั่วไป และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกได้ถึง 25% สำหรับถุงยืดอายุผลิตผลทางการเกษตร มีคุณสมบัติในการควบคุมการซึมผ่านของก๊าซ ทำให้ยืดอายุเฉลี่ยของผักและผลไม้ให้ยาวนานขึ้นได้ประมาณ 1 เท่าเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์ทั่วไป

ในด้านถุงปลูกถุงเพาะพลาสติกชีวภาพและถาดสลัดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกประเภท PLA ซึ่งได้จากการนำข้าวโพดมาผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพจนได้เป็นเม็ดพลาสติก โดยถุงปลูกถุงเพาะนี้สามารถย่อยสลายได้ในสภาพแวดล้อมปกติภายใน 180 วันทำให้สามารถนำกล้าไม้ไปปลูกลงดินได้โดยไม่ต้องแกะถุงออก ส่วนถาดสลัดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้นั้น มีการพัฒนารูปแบบขึ้นเพื่อความสะดวกในการรับประทานสลัดผัก (Ready to Eat) และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับถุงปลูกถุงเพาะ

นอกจากการสนับสนุนให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 ชนิดข้างต้น PTTGC ยังร่วมมือกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2557 จัดฝึกอบรมการสร้างโรงเรือนต้นทุนต่ำ การใช้พลาสติกคลุมโรงเรือนและถุงปลูกถุงเพาะเพื่อปลูกผักอย่างถูกวิธีให้แก่โรงเรียน 31 แห่ง และ 6 ชุมชนในพื้นที่เขตปฏิบัติการของมูลนิธิโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีการก่อสร้างโรงเรือนขึ้นใหม่จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 46 โรง โดยผักที่ปลูกในโรงเรือนของโรงเรียนจะนำมาใช้ประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน ทำให้เด็กๆ ได้รับประทานผักปลอดสารพิษที่ปลูกขึ้นเอง ส่วนผักที่ปลูกโดยชุมชน ถือเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับถุงบรรจุผักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและถาดสลัดพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ มูลนิธิโครงการหลวงได้นำไปใช้บรรจุผลิตผลเกษตรและวางจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั่วประเทศ

การดำเนิน “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง ถือเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ PTTGC ในการดำเนินธุรกิจตามนโยบายการบริหารจัดการความยั่งยืนที่พิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจที่ยึดหลักเกณฑ์ความยั่งยืนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจผ่านการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงกลยุทธ์ และการดำเนินงานงาน ด้านสังคม มุ่งเน้นการดำเนินงานที่สร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย และโลกของเรา และด้านสิ่งแวดล้อม ที่เข้าใจและให้คุณค่าของการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม โดยแสดงออกถึงความรับผิดชอบ และเป็นร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

Feature Stories

Feature Stories
23 เมษายน 2563
อุปกรณ์ป้องกันร่างกายทางการแพทย์ที่ GC Group ให้การสนับสนุนเคมีภัณฑ์และพลาสติกในการผลิต รวมทั้งจัดหาวัสดุเพื่อการผลิต
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
14 กรกฎาคม 2562
สร้างมูลค่าใหม่ให้ขยะพลาสติกกับ UPCYCLING  THE OCEANS, THAILAND โครงการต้นแบบของ GC
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
03 กรกฎาคม 2562
“Because There is No Planet B” สู่ภารกิจปฏิวัติวงการแฟชั่นของ ECOALF
อ่านเพิ่มเติม