Feature Stories
ThinkCycle Bank ธนาคารขยะ ThinkCycle ทิ้งแบบหมุนเวียน เพื่อเปลี่ยนโลก
ความเป็นมา:
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนิน โครงการธนาคาร ทิ้ง-ไซเคิล (ThinkCycle Bank) ซึ่งเป็นธนาคารขยะ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาขยะในประเทศ ภายใต้แนวคิด “ทิ้งแบบหมุนเวียน...เพื่อเปลี่ยนโลก” โดยมุ่งเน้นให้เยาวชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บและคัดแยกขยะ โดยเริ่มต้นจากในครัวเรือน และโรงเรียน อีกทั้งยังตอกย้ำการสร้างจิตสำนึกด้านการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ตลอดจนสร้างนิสัยการออม ผ่านการฝากธนาคารขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น และสามารถใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
GC และมหาวิทยาลัยมหิดลตระหนักในปัญหาการจัดการขยะรีไซเคิลให้สามารถเข้าสู่กระบวนการได้อย่างถูกวิธี โดยได้นำหลัก 3 R มาประยุกต์เป็นระบบการบริหารจัดการขยะ โดยมุ่งหวัง คืนชีวิตขยะรีไซเคิล ให้มีประโยชน์อีกครั้ง ตลอดจนสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามแนวคิด GC Circular Living โดยการเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนหรือร้านรับซื้อขยะในพื้นที่ เพื่อรับซื้อขยะรีไซเคิลประเภทต่างๆ อาทิ กระดาษ กระป๋อง ขวดน้ำพลาสติกชนิดต่างๆ ขวดแก้ว และถุงพลาสติกสะอาด เป็นต้น
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ และสามารถตรวจสอบได้
- เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
- เพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชน ด้วยการจำหน่ายขยะให้วิสาหกิจชุมชน และผู้รับซื้อในชุมชน เปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
- เพื่อเสริมสร้างนิสัยการออมให้แก่นักเรียนและสร้างรากฐานการจัดการขยะ
ขอบเขตการดำเนินงาน
- ประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมกันแก้ปัญหาขยะและการจัดการทรัพยากรพลาสติกเหลือใช้ตามแนวคิด GC Circular Living
- สนับสนุนระบบการจัดการการคัดแยกขยะ และจัดทำฐานข้อมูลปริมาณขยะอย่างมีระบบ
- ศึกษาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี
ขั้นตอนการดำเนินงาน
- สำรวจและประสานงานในพื้นที่เป้าหมาย
- จัดอบรมวิธีการใช้ Software โปรแกรมธนาคารขยะให้กับตัวแทนครูและนักเรียน
- กิจกรรม Roadshow ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะรีไซเคิลที่ถูกวิธี
- จัดกิจกรรมรับซื้อขยะรีไซเคิล
นักเรียน และบุคคลากรในโรงเรียน นำขยะรีไซเคิลที่ได้จากการรวบรวมและคัดแยก มาที่จุดรับขยะรีไซเคิล ตามวันและเวลาที่โรงเรียนกำหนด เพื่อชั่งน้ำหนัก ประเมินราคาและจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อ พร้อมนำขยะรีไซเคิลไปฝากเป็นเงินเข้าสมุดบัญชีโครงการธนาคารทิ้ง-ไซเคิล จากการดำเนินงานนับเป็นการสร้างวินัยในการคัดแยกขยะ และส่งเสริมนิสัยการออมผ่านการฝากธนาคารขยะอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย
- ติดตามผลการดำเนินงาน
ปัจจุบัน มีโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรีเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโครงการ ThinkCycle Bank แล้วจำนวน 21 แห่ง โดยในปี 2562 โครงการฯสามารถดำเนินการจัดเก็บขยะรีไซเคิลเข้าสู่ระบบได้ทั้งสิ้น 12,581.07 กิโลกรัม และสร้างรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลรวมเป็นเงิน 27,723.25 บาท
*ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2562
Feature Stories