08 เมษายน 2563

GC-มหิดล พัฒนาตู้โควิเคลียร์ ตู้แรกของไทย [เดลินิวส์]

แชร์:

GC จับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพัฒนาตู้โควิเคลียร์ ลดความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 ตู้แรกของประเทศไทย

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า GC ได้สนับสนุนวัตถุดิบจากนวัตกรรมของกลุ่มบริษัทฯ ที่ใช้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 ชนิด ได้แก่ ไตรเอทานอลเอมีน (Triethanolamine: TEA) มีคุณสมบัติช่วยให้อนุภาคของไอออนนาโนยึดเกาะกับเสื้อผ้าและผิวหนังของคน ทำให้คงประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อยาวนานถึง 24 ชั่วโมง

ซึ่ง GC เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศไทย และ กลีเซอรีน (Glycerine) มีคุณสมบัติทำให้อนุภาคไอออนนาโนเป็นสารแขวนลอยในน้ำยา ไม่เกิดการตกตะกอน ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่ระคายเคืองผิว รวมทั้งสนับสนุนการจัดทำตู้โควิเคลียร์ หรือตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ

ช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการโรงพยาบาลต่างๆ ในภาวะวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมุ่งหวังเพื่อลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานอย่างหนักภายใต้ความกดดัน และคนไทยให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

โดยมี ศจ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้รับมอบ ณ ลานพระบิดา โรงพยาบาลศิริราช

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน ประธานกลุ่มสาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตู้โควิเคลียร์ (CoviClear) หรือ ตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ ใช้นวัตกรรม Nanotechnology Sanitizing Spray ที่มีส่วนผสมของอนุภาคนาโนซิลเวอร์ หรือ “โลหะเงิน” และน้ำยาฆ่าเชื้อที่สามารถทำลายผนังเซลล์เชื้อโรค ทำให้เชื้อตาย พร้อมทำลายโปรตีน ทำให้เชื้อไม่สามารถแบ่งตัวได้ ออกฤทธิ์ปกป้องนาน 24 ชั่วโมง ด้วยการปล่อยอนุภาคซิลเวอร์นาโนผ่านหัวฉีดขนาดเล็กระดับไมครอน

เพื่อให้ไอของสารดังกล่าว ไปจับกับเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้ออื่น ๆ ที่ติดมากับตัวคนและเสื้อผ้าของผู้สวมใส่ ทำให้เซลล์เชื้อโรคถูกทำลายและตายลงโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยตู้โควิเคลียร์ ถือเป็นตู้แรกของประเทศไทยที่ผสมผสานความรู้ด้านวิศวกรรมกับชีวการแพทย์ คิดค้นและพัฒนา โดยทีมสหสาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ อนุภาคซิลเวอร์นาโน ยังสามารถยึดติดกับผิวหนังและเสื้อของคนที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยตู้โควิเคลียร์ เพื่อทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคที่มาสัมผัสกับผิวหนังหรือเสื้อผ้าได้อีกระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคได้ และจะสลายไปเมื่อมีการชำระล้างร่างกาย

สำหรับโครงการนี้ GC จะส่งมอบตู้โควิเคลียร์ และน้ำยาฆ่าเชื้อมีส่วนผสมของอนุภาคซิลเวอร์นาโน สามารถใช้งานได้ถึง 10,000 ครั้ง ต่อการเติมน้ำยาจำนวน 5 ลิตร โดย GC จะมอบให้โรงพยาบาล จำนวน 10 เครื่อง เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง

จากการผสานพลังนวัตกรรมเคมีภัณฑ์จากภาคเอกชนและวิศวกรรมจากภาคการศึกษาในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมืออีกหนึ่งขั้นที่มุ่งหวังให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทย และคนไทยทุกคนผ่านพ้นช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกันได้อย่างปลอดภัย

ที่มา: d.dailynews.co.th

ข่าวสาร

ข่าวสาร
01 พฤศจิกายน 2565
กทม. จับมือ GC เปลี่ยนกองขยะให้เป็นป่า เปิดโครงการ “ยิ่งปลูก ยิ่งดี” สร้างพื้นที่สีเขียว 55 ไร่ ฟอกปอดให้คนกรุง
อ่านเพิ่มเติม
ข่าวสาร
28 กันยายน 2561
GC จับมือ สยามพิวรรธน์ เปิดตัวโครงการ “Circular Living Campaign 2018” นำความคิดสร้างสรรค์สร้างคุณค่าการจัดการปัญหาขยะพลาสติก ด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม
ข่าวสาร
06 มิถุนายน 2561
GC จับมือภาครัฐ ภาคเอกชน และสังคม ประกาศร่วมมือจัดการปัญหาขยะ และการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม