20 ธันวาคม 2562

จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ จับมือ GC เปิดตัวแคมเปญ Waste This Way ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ร่วมรักษ์โลกให้ถูกทาง ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74

แชร์:

วันนี้ (19 ธ.ค. 2562) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ Waste This Way: ร่วมกันรักษ์โลกให้ถูกทาง เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างครบวงจร ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 โดยการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาขยะ พร้อมนำแนวคิด Circular Living ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามาปรับใช้ในการจัดกิจกรรม และสื่อสารไปยังนิสิตนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นพลังเล็ก ๆ ขยายผลไปยังสังคมในวงกว้างต่อไป

ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า “GC มุ่งเน้นในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการนำแนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความพยายามนี้ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการกระทำขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการส่งเสริมให้ทุกคนนำหลักการนี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและสร้างไลฟ์สไตล์แบบ Circular Living ด้วยการใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบ ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อเปลี่ยนโลกให้ดียิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตได้มุ่งมั่นดำเนินแนวทาง “Solution for Everyone” หรือการสร้างโซลูชั่นเพื่อรองรับความต้องการของทุกคนและสนับสนุนให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ในแนวทางของแต่ละคน อาทิ การบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ การพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพ GC Compostable ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ การแปรรูป อัพไซคลิงพลาสติกใช้แล้วเป็นสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้าและกระเป๋า รวมถึงการเตรียมการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิล เพื่อ รีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วให้เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food-grade และ Packaging-grade ที่ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม อาหาร เครื่องสำอาง น้ำยาและเคมีภัณฑ์ทำความสะอาด ทั้งนี้ ทุกกิจกรรมที่ทำในงานฟุตบอลประเพณีฯ ต้องวัดผลได้ โดยหลังจบงาน จะมีการคำนวณ CO2 เทียบเท่า ที่สามารถลดได้จากการจัดงาน

“GC เชื่อมั่นว่า ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินแคมเปญ Waste This Way และความร่วมมือร่วมใจของนิสิตนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัย จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลไปยังสังคมในวงกว้างต่อไป ยกระดับความรู้ ความเข้าใจด้านการจัดการขยะไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืนและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น” ดร. คงกระพัน กล่าว

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านพัฒนานิสิตและนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาฯ มีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวระดับโลกเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในโอกาสที่ในปี 2563 จุฬาฯ จะเป็นเจ้าภาพในงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 เราจึงตั้งมั่นที่จะใช้งานฟุตบอลประเพณีเป็นพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและได้ลองดำเนินการจัดการขยะด้วยตนเอง โดยเราเชื่อมั่นในศักยภาพของนิสิตนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาขยะ และเมื่อผสานกับความรู้และประสบการณ์ของ GC ทั้งนี้ เมื่อมีการสื่อสารองค์ความรู้ที่ได้จากแคมเปญนี้ออกไปสังคมจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก”

ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ธรรมศาสตร์เชื่อว่าการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มต้นตั้งแต่ ในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักศึกษานำแนวคิดนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัย จึงได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างมากตั้งแต่ระดับนโยบาย เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ด้วย โดยจากการดำเนินการที่ผ่านมา นักศึกษาให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ทำให้เรามีมาตรฐานการจัดการขยะที่เป็นที่น่าพึงพอใจมาโดยตลอด ในงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ ธรรมศาสตร์มุ่งมั่นที่จะเผยแพร่แนวทางนี้ออกไปสู่สังคม โดยเราต้องการแสดงให้ทุกคนเห็นว่าการรักษ์โลกนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากในปีนี้ ทั้งสองมหาวิทยาลัยสามารถเริ่มลงมือทำได้ ทุกภาคส่วนในสังคมก็สามารถเริ่มต้นได้เช่นกัน”

นายศิลา รัตนวลีวงศ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานระดับนิสิต ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “นิสิตจุฬาฯ หลายคนเคยมีส่วนร่วมในการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยอยู่บ้างผ่านโครงการ Chula Zero Waste อย่างไรก็ตาม การจัดงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสอดแทรกแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงานทั้งหมดให้มีทิศทางตรงกัน แต่คณะผู้จัดงานจากทั้งสองมหาวิทยาลัยต่างก็ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาขยะและทราบดีว่าทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป พวกเราซึ่งเป็นผู้จัดงานในปีนี้ จึงตั้งมั่นที่จะร่วมกันแสดงการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้เห็นผ่านการเปลี่ยนงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ให้มีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ”

นางสาวประภาพร สมวงษ์ รองประธานคณะกรรมการดำเนินงานระดับนิสิต ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “ในปีนี้ คณะผู้จัดงานจะใช้คอนเซ็ปต์ “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” คือ การทำให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเริ่มลงมือแก้ไข ในด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจึงได้นำแนวคิด ‘ลด เปลี่ยน แยก’ มาใช้ตั้งแต่การออกแบบกิจกรรม โดยที่ “ลด” คือ การลดขยะ Single-use ที่ไม่จำเป็นในการทำกิจกรรมผ่านการลดใช้ หรือใช้ซ้ำ ส่วน “เปลี่ยน” คือการเปลี่ยนวัสดุมาเลือกใช้วัสดุทางเลือก เช่น ใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย วัสดุจากธรรมชาติ หรือวัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ สุดท้ายคือ “แยก” หมายถึง การแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปจัดการต่ออย่างเหมาะสม โดยทางฝั่งจุฬาฯ จะมีการนำแนวคิดนี้มาปรับใช้อย่างจริงจัง เช่น ชุดอาหารกลางวันที่แจกให้นิสิตบนสแตนด์แปรอักษรที่ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ เพื่อลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง และการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้ทางชีวภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแน่นอนว่าแนวคิดแบบเดียวกันนี้จะนำไปใช้ในส่วนอื่นของงานด้วย”

นางสาวเพ็ญพิชชา สถิรปัญญา ประธานชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า “นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกับมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สองมหาวิทยาลัยจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการขยะ โดยทางผู้จัดงานเห็นว่างานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่สองมหาวิทยาลัยจะพร้อมใจกันแสดงพลังให้สังคมได้เห็นว่าทุกคนสามารถเริ่มต้นใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กันได้”

นางสาวนิษฐิดา โพธิ์ทอง ประธานคณะกรรมการจัดงานฟุตบอลประเพณี ส่วนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมา หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันหรือในการจัดกิจกรรมจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร ในปีนี้ พวกเรา คณะผู้จัดงานจากทั้งสองมหาวิทยาลัยจึงได้บูรณาการเรื่องที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างการแยกขยะเข้ากับวิธีต่าง ๆ เพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น การอัพไซเคิลขวดพลาสติกประเภท PET ให้กลายเป็นรองเท้ากีฬาสำหรับน้อง ๆ นักเรียนที่ขาดแคลน หรือการส่งกระบองลมไปรีไซเคิลเป็นพลาสติกใหม่ โดยเราหวังว่าการได้เรียนรู้จากงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ สังคมจะตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะให้เหมาะสม และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น”

การดำเนินการในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 นี้จะมีการเก็บข้อมูลขยะที่จัดการได้ทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลและตัวอย่างของการจัดการขยะในกิจกรรมขนาดใหญ่อย่างการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ในกิจกรรมอื่นต่อไป โดยผู้สนใจสามารถรับชมการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ของแคมเปญนี้ได้ภายในงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่

เฟซบุ๊ก WasteThisWay: https://www.facebook.com/WasteThisWay/

เว็บไซต์: https://gccircularliving.pttgcgroup.com/th/activities/448/waste-this-way

ข่าวสาร

ข่าวสาร
10 ธันวาคม 2563
GC คว้าประเมินผลดัชนีชี้วัดความยั่งยืน CDP ในระดับ A สูงสุดในประเทศ พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล
อ่านเพิ่มเติม
ข่าวสาร
01 พฤษภาคม 2563
GC สนับสนุน Face Shield ผลิตจากพลาสติก PET ของ GC Group
อ่านเพิ่มเติม
ข่าวสาร
20 ธันวาคม 2562
GC ร่วมขับเคลื่อน Circular Economy กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ มอบเสื้อ Upcycling by GC ให้เป็นของขวัญกับนักท่องเที่ยว
อ่านเพิ่มเติม