โครงการเส้นทางแห่งความสุข
โครงการเส้นทางแห่งความสุข
GC จับมือ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษา ค้นคว้าแหล่งที่มา รากเหง้าของศิลปะวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ให้เกิดเป็น โครงการเส้นทางแห่งความสุข เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดระยองให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นักเดินทางจะได้เรียนรู้ว่า นอกจากระยองจะมีหาดทรายสวยงาม อาหารอร่อยแล้ว ระยองยังมีศิลปะวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าควรแก่การทะนุบำรุง เก็บไว้ให้เยาวชนได้ศึกษาตลอดไป
ระยอง จังหวัดชายทะเลที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน หนึ่งในนั้น คือ เป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าตาก ตั้งไพร่พลอยู่บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล กลางเมืองระยอง ก่อนยกทัพเข้าตีเมืองจันทบุรี
เพื่อรวบรวมกองทัพก่อนกู้เอกราชคืนจากกองทัพพม่า จังหวัดระยอง จึงเป็นดินแดนที่มีเส้นทางแห่งความทรงจำ เส้นทางสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ระยองยังอุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านานัปการ สะท้อนผ่านภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าในแขนงต่าง ๆ จากรุ่นสู่รุ่น
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นระยอง จึงริเริ่มโครงการ ”เส้นทางแห่งความสุข” โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ค้นคว้าหาข้อมูลทางวัฒนธรรมของจังหวัดระยองซึ่งครอบคลุมทั้งข้อมูลมรดกวัฒนธรรมและศิลปวัฒนธรรม ในพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดระยอง เพื่อสร้างความเข้าใจในรากฐานความเป็นมาของจังหวัดระยองอย่างลุ่มลึก ยกระดับหรือต่อยอดสู่ระบบฐานข้อมูลดิจิตัล เชื่อมโยงข้อมูลทางวิชาการ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง ในการพัฒนาความเป็นพื้นถิ่นร่วมสมัยได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
โครงการนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากร มุ่งดำเนินงานด้านวิชาการ ศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณสถานและโบราณวัตถุ ลักษณะชาติพันธุ์และวิถีชุมชน วิจัยเอกสาร คัมภีร์โบราณ รวมถึงงานศิลปกรรมและงานช่างด้วยวิธีการทางโบราณคดีเชิงลึก ใน 4 อำเภอของ จังหวัดระยอง ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านค่าย อำเภอแกลง และอำเภอบ้านฉาง สร้างกระบวนการอบรมสร้างความรู้สู่ท้องถิ่น และสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียน จัดทำฐานข้อมูลเชิงสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลดิจิตัล ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และ ยังร่วมกับ GC จัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยเฉพาะสถานที่ที่อยู่ภายใต้การทำวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สถานที่ต่างๆ ในโครงการเส้นทางแห่งความสุข อีกด้วย
จากคำกล่าวโบราณที่ว่า “ศิลปะนั้นยืนยาว ชีวิตสั้น” นั้นช่างสอดคล้องกับเรื่องราวในโครงการเส้นทางแห่งความสุข เพราะแม้ชีวิตคนเราจะหมดสิ้นไป แต่ศิลปวัฒนธรรมในยุคนั้น ๆ ยังคงอยู่ และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงยุคปัจจุบัน ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และศึกษาอย่างไม่รู้จบ
ข้อมูล ณ เมษายน 2564
News and Insights