04 กันยายน 2560

นวัตกรรมใหม่ของถุงทวารเทียม เพราะคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมีความสำคัญ

แชร์:

ชีวิตใหม่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือการมี ถุงทวารทียม หรือ Colostomy Bag ติดตัวตลอดเวลา โดยถุงทวารเทียมคือ ชุดอุปกรณ์สำหรับรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมของผู้ป่วย ที่ไม่สามารถขับถ่ายทางช่องทางปกติได้ ถุงทวารเทียม จะทำหน้าที่แทนในการเก็บสิ่งต่าง ๆ จากการขับถ่าย ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ถุงนี้อย่างมาก แทบจะทุกวัน จึงถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญมาก อย่างหนึ่งในปัจจุบันต้องใช้วิธีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงและไม่สะดวกในการใช้งาน

“ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้จำนวนมาก และมีความต้องการใช้ถุงทวารเทียมอย่างมาก โดยต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมดในราคาแพงถึงถุงละ 150-300 บาทต่อถุง และกระทรวงสาธารณสุขจัดส่งให้แต่ละโรงพยาบาลของแต่ละจังหวัดจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย”
นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว

จากปัญหาดังกล่าว นำมาซึ่งความร่วมมือระหว่าง PTTGC ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสถาบันพลาสติก ในการวิจัยและพัฒนาเม็ดพลาสติก Compound LLDPE ชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติ เก็บกลิ่น กันการรั่วซึม และสามารถลดต้นทุนการผลิตถุง Colostomy Bag ลงได้อย่างมากและได้ส่งมอบเม็ดพลาสติกจำนวน 10 ตัน ให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสถาบันพลาสติกนำไปผลิตเป็นถุง Colostomy Bag ได้ประมาณ 60,000 ถุง สำหรับใช้ทดลองกับคนป่วยทั่วประเทศทั้งหมด 322 โรงพยาบาลๆ ละ 30 คน คิดเป็นคนป่วยทั้งหมดประมาณ 9,000 คน ตลอดโครงการ

คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวว่า “PTTGC มีวิสัยทัศน์ คือ เป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต โครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ดียิ่งขึ้น เราตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิต ของคนในสังคมเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาอุปกรณ์พลาสติก ทางการแพทย์ ผมมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ด้วยศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา และต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนาการผลิตอุปกรณ์พลาสติกทางการแพทย์คุณภาพสูงอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อการผลิตได้ภายในประเทศ ลดการนำเข้า และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ซึ่งทั้งหมดนี้ เกิดจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ ร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป”

นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ กล่าวว่า “โครงการนี้ทำให้ช่วย ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตถุงทวารเทียมได้อย่างมาก ลดการนำเข้า และยังมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถเก็บกลิ่น ดับกลิ่นได้ และทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติก และยางพาราได้เป็นอย่างดี”

คุณสมบัติ หทัยเปี่ยมสุข ประธานชมรมผู้ป่วยทวารเทียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ผู้ป่วยทวารเทียมในปัจจุบัน การดำรงชีวิตค่อนข้างลำบาก การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่ปกติ บางคนจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกอับอาย แต่เมื่อมีถุงทวารเทียมจากโครงการนี้ที่มีคุณสมบัติเด่นกว่าถุงที่นำเข้าจากต่างประเทศ คือ สามารถ เก็บกลิ่นและดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ มีราคาที่ถูกลงมาก ผู้ป่วยสามารถมีกำลังซื้อได้และที่สำคัญในอนาคตจะสามารถ เข้าถึงสิทธิผู้ป่วยของ สปสช. ได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจะดีขึ้นอย่างมาก”

นับเป็นความร่วมมือในการยกระดับการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย PTTGCได้มอบเม็ดพลาสติก InnoPlus เกรดพิเศษ เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนา Colostomy Bag (ถุงทวารเทียม) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพื่อทดแทนการนำเข้า สร้างคุณค่าร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมและแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้เสีย ทุกกลุ่มควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีมากยิ่งขึ้น ตอกย้ำการเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต

Feature Stories

Feature Stories
15 ตุลาคม 2564
“กิจกรรมทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล” เปลี่ยนขยะมาเป็นบุญเพียงแค่คุณรู้จักแยก
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
22 เมษายน 2564
ทิ้งถูกที่แล้วไปไหน [A Day]
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
25 ธันวาคม 2560
การอนุรักษ์พลังงาน สำคัญไฉน?
อ่านเพิ่มเติม